ภัยซ่อนเร้น…เบาหวานขึ้นตา
เบาหวานเป็นโรคพบบ่อยมากโรคหนึ่ง พบได้ในทุกอายุ แต่โดยทั่วไปมักพบในผู้ใหญ่ เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความผิดปกติได้กับเนื้อเยื่อและอวัยวะ ทุกๆเนื้อเยื่อ และทุกๆอวัยวะของร่างกาย รวมทั้งเนื้อเยื่อของดวงตา โดยเฉพาะจอตา ซึ่งพบเกิดได้บ่อย โดยเมื่อเกิดกับจอตา มักเรียกโดยทั่วไปว่า เบาหวานขึ้นตา หรือ เบาหวานกินตา ซึ่งทางแพทย์เรียกว่า โรคหรือภาวะ จอตาเสื่อมจากเบาหวาน (Diabetic retinopathy) ทั้งนี้ เมื่อปล่อยปละละเลย ดูแลไม่ถูกต้อง โรคนี้อาจเป็นสาเหตุให้ตาบอดถาวรได้ ดังนั้น โรคนี้จึงเป็นเรื่องน่ารู้สำหรับผู้ป่วยเบาหวานทุกคน เพื่อการดูแลตนเอง ป้องกันการเกิดตาบอดถาวร
ทำไมผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องรับการตรวจตา?
มีการสำรวจในประเทศไทยล่าสุดพบว่า ประชากรที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป เป็นเบาหวานถึง 7% นั่นคือ ขณะนี้มีประชากรไทยมากกว่า 3 ล้านคนเป็นเบาหวาน เป็นที่ทราบกันว่าโรคเบาหวานเป็นโรคถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ อีกทั้งการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบันอยู่ในภาวะรีบเร่ง รับประทานอาหารที่เพิ่ม แป้ง น้ำตาล และไขมันมากกว่าอาหารประเภทมีใยอาหาร ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสมทำให้พบโรคเบาหวานได้มากขึ้น
ในสมัยก่อนการแพทย์ยังไม่เจริญ ยาควบคุมเบาหวานยังไม่ดีพอ ผู้ป่วยเบาหวานจึงมีอายุสั้น แต่ปัจจุบันการควบคุมเบาหวานดีขึ้นมาก ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวมากขึ้น จึงมีโอกาสพบโรคหรือภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานมากขึ้น โรคเบาหวานก่อให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดซึ่งมีอยู่ทั่วร่างกาย จึงมีผลต่ออวัยวะสำคัญต่างๆ ได้แก่ หัวใจ สมอง ไต อันเป็นต้นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ตาก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่เสื่อมจากเบาหวาน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิต แต่ทำให้ตาบอดเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต และเป็นภาระต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
การตรวจตาแต่ต้น นอกจากช่วยให้ป้องกันตาบอดได้ ยังมีประโยชน์ที่ทำให้ทราบในเบื้องต้นว่า หลอดเลือดในอวัยวะอื่นก็น่ามีความผิดปกติดั่งที่พบในจอตาด้วยเช่นกัน เพื่อได้รับการตรวจรักษาโรคของอวัยวะอื่นๆแต่เนิ่นๆไปพร้อมๆกันกับโรคเบาหวาน และโรคทางตา การตรวจตาจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคน ทั้งนี้ มีรายงานพบว่า 2% ของผู้ป่วยเบาหวาน มักสูญเสียสายตาเหตุจากโรคเบาหวาน นอกจากนั้น ยังพบว่า โอกาสที่คนเป็นเบาหวานจะตาบอดมีมากกว่าคนปกติถึง 20 เท่า
ผู้ป่วยเบาหวานควรรับการตรวจตาเมื่อไหร่?
ผู้ป่วยเบาหวานควรมารับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ทุกคน แม้ว่าตาจะมองเห็นปกติก็ตาม โดยระยะเวลาที่ควรได้รับการตรวจครั้งแรก และติดตามผล ซึ่งแนะนำโดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย คือ
- ผู้ป่วยที่เริ่มเป็นเบาหวานเมื่อมีอายุ 0-30 ปี ควรตรวจตาหลังเป็นเบาหวาน 5 ปี หลังจากนั้นควรตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง
- ถ้าเป็นเบาหวานตอนอายุ 31 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจตาทันทีที่พบเบาหวาน และตรวจตาต่อเนื่องอย่างน้อยปีละครั้ง
- ผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์ ควรตรวจตาทันทีที่ตั้งครรภ์หรือใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
ทั้งนี้หากการตรวจแต่ละครั้ง พบเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย จักษุแพทย์จะแนะนำตรวจบ่อยยิ่งขึ้น และผู้ป่วยควรพบจักษุแพทย์ตรงตามนัดเสมอ
โรคตาอะไรบ้างที่พบในผู้ป่วยเบาหวาน?
ผู้ป่วยเบาหวานอาจพบโรคตาต่างๆ ได้เหมือนคนทั่วไป แต่อาจพบในอายุที่น้อยกว่า เป็นบ่อยกว่า โรครุนแรงกว่า รักษาได้ยากกว่า เช่น ต้อกระจก ต้อหิน การอักเสบของขั้วประสาทตา อัมพาตของกล้ามเนื้อลูกตา (กล้ามเนื้อใช้ในการเคลื่อนไหวดวงตา) การติดเชื้อของดวงตา ซึ่งทั้งหมดนี้การรักษาเป็นแบบเดียวกับในคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน
แต่มีอยู่โรค หรือ ภาวะหนึ่งที่สำคัญ พบเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานเท่านั้น คือ โรคจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน ซึ่งมักเกิดในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานนานๆ โดยเฉพาะเบาหวานที่ต้องพึ่งการใช้ยาอินซูลิน แต่ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีตั้งแต่เมื่อเริ่มเป็นเบาหวาน จะทำให้พบโรคจอตาเสื่อมนี้น้อยลง มีการศึกษาพบว่า ถ้าเป็นเบาหวานน้อยกว่า 10 ปี โอกาสเกิดโรคจอตาเสื่อมนี้ 7 % แต่ถ้าเป็นเบาหวานมากกว่า 15 ปี โอกาสเกิดโรคจอตาเสื่อมเพิ่มเป็น 63% และอย่าเข้าใจผิดว่าถ้าคุมน้ำตาลดีแล้วจะปลอดจากโรคนี้ เพราะถึงแม้คุมเบาหวานได้ดี ก็อาจพบโรคจอตาเสื่อมนี้ได้ เพียงแต่เกิดในระยะเวลาที่นานกว่า หรือในอายุที่มากขึ้นนั่นเอง
เบาหวานขึ้นตามีอาการอย่างไร?
อาการที่อาจพบได้จาก จอตาเสื่อม จากเบาหวาน คือ
- อาจไม่มีอาการอะไรเลยในระยะแรก การมองเห็นปกติ จึงทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจไม่ทำตามคำแนะนำของทั้งจักษุแพทย์ และแพทย์ผู้รักษาเบาหวาน
- ตามัวลงเล็กน้อย หากโรคที่จอตาลุกลามมายังจุดรับภาพที่เรียกว่า มาคูลา(macula) ตาจะมัวลงอย่างช้าๆ ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่ามัวตามอายุที่มากขึ้น จึงละเลยไม่มารับการตรวจรักษา
- อาจมองเห็นภาพบิดเบี้ยว ถ้าโรคก่อให้จอตามีการบวมน้ำหรือมีการตายของเซลล์จอตาเป็นหย่อมๆ
- มีลานสายตาที่ผิดปกติ อาจเห็นมืดไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยเกิดจากหลอดเลือดจอตาบางเส้นมีการอุดตัน ทำให้เซลล์รับรู้การเห็นบริเวณที่ขาดเลือดไม่ทำงาน ตาจึงมืดเป็นแถบๆ
- ตามืดลงอย่างฉับพลัน มักเกิดในรายที่มีเลือดออกในน้ำวุ้นตาอย่างฉับพลัน
เบาหวานขึ้นตาเกิดได้อย่างไร?
การเกิดเบาหวานขึ้นตา เริ่มจากหลอดเลือดในจอตาเกิดความผิดปกติ มีการอักเสบสาเหตุจากเบาหวาน ต่อจากนั้นมีการโป่งพองเป็นหย่อมๆจากผนังหลอดเลือดผิดปกติ ตามด้วยมีเลือดและน้ำเหลืองซึมออกมาจากหลอดเลือด กระจายอยู่ทั่วๆไปในจอตา หากปล่อยทิ้งไว้จะมีเลือด น้ำเหลืองซึมมากขึ้น ตามด้วยจอตาขาดเลือด จึงเกิดการตายของจอตา ในระยะแรกอาจเป็นการตายกระจัดกระจาย นานเข้ามีการตายมากขึ้น เซลล์รับรู้การเห็นในจอตาเหลือน้อยลงๆ การมองเห็นจะลดลงมากขึ้นๆตามลำดับ
นอกจากนั้น ในธรรมชาติ เมื่อหลอดเลือดที่จอตาเสีย จะมีกลไกของร่างกายก่อให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นในจอตา หลอดเลือดที่เกิดใหม่มีผนังไม่แข็งแรง ฉีกขาดได้ง่าย จึงเกิดเลือดออกในจอตา ทำให้ตามัวลงอย่างฉับพลัน หรือเมื่อมีหลอดเลือดเกิดใหม่ มักจะมีเนื้อเยื่อเป็นพังผืดเกิดใหม่ด้วย ทั้งพังผืดและหลอดเลือดเกิดใหม่ จะยึดดึงจอตาให้หลุดลอกเป็นหย่อมๆ และดึงรั้งจนหลุดลอกหมดทั้งจอตา ทำให้ตาบอดสนิทในที่สุด
รักษาโรคเบาหวานขึ้นตาได้อย่างไร?
เมื่อเกิดเบาหวานขึ้นตา หรือจอตาเสื่อมจากเบาหวาน มีแนวทางการรักษา คือ
- เมื่อเพิ่งเริ่มเป็นโรค ควรควบคุมเบาหวาน อย่างเคร่งครัด โดยยังไม่ต้องมีการรักษาทางดวงตา แต่จักษุแพทย์จะนัดตรวจติดตามโรคเป็นระยะๆ เมื่ออาการทางจอตาคงที่ ไม่เลวลง ก็ยังไม่ต้องรับการรักษาทางตาอะไรที่เป็นพิเศษ
- หากโรคที่จอตาเป็นมากขึ้น การรักษา คือ รักษาด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด โดยเป็นการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้น เป็นการทำลายหลอดเลือดเกิดใหม่ด้วยแสงเลเซอร์ และทำลายจอตาที่ตายเป็นหย่อมๆ (จอตาที่เสียหาย จะเร่งให้เกิดหลอดเลือดใหม่ที่เราไม่ต้องการ) การรักษาด้วยแสงเลเซอร์นี้ อาจต้องทำหลายครั้ง จนกว่าความผิดปกติของจอตาสงบลง และในบางภาวะ เมื่อมีจอตาตรงกลางบวม อาจรักษาด้วยการฉีดยารักษาการบวมเข้าในตาโดยตรง
- ถ้ามีเลือดออกในน้ำวุ้นตา หรือมีพังผืดดึงจอตาหลุดลอก ต้องรีบรักษาโดยวิธีผ่าตัดน้ำวุ้นตา ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก ผลรักษาอาจไม่แน่นอน หากปล่อยปละละเลยมาถึงขั้นต้องผ่าตัดน้ำวุ้นตา สายตามักจะเสียไปค่อนข้างมากแล้ว
ควรดูแลตัวเองอย่างไร?
หากท่านเป็นเบาหวาน ควรรักษาให้ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้วยการคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามสุขภาพ
รับประทานยาเบาหวานอย่างสม่ำ เสมอ ปฏิบัติตามแพทย์เบาหวาน และพยาบาลแนะนำ พบแพทย์รักษาเบาหวานสม่ำ เสมอ นอกจากนั้น ไม่ควรลืมที่จะไปรับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ และปฏิบัติตามจักษุแพทย์แนะนำ สม่ำเสมอเช่นกัน