สายตาผิดปกติคืออะไร มีประเภทใดบ้าง
สายตาผิดปกติ คือ สาเหตุของการมองเห็นไม่ชัดเจน เกิดจากแสงจากวัตถุที่เราต้องการมอง เมื่อผ่านเข้ามาในตา ระบบหักเหแสงของตามีขนาดไม่พอดีให้โฟกัสของแสงตรงพอดีระดับจอประสาทตา แสงที่ไปถึงจอประสาทตาเป็นแสงที่ไม่โฟกัส คนที่มีสายตาผิดปกติจึงมองเห็นภาพที่ไม่ชัดเจนไปด้วย
แบ่งง่ายๆเป็น 2 ประเภท คือ
- เกิดจากโครงสร้างตาที่เกี่ยวข้องกับการโฟกัสถูกสร้างมาไม่พอดี ได้แก่การที่ความโค้งกระจกตามาก/น้อยไป หรือ ขนาดลูกตาใหญ่หรือเล็กเกินไป สายตาผิดปกติประเภทนี้เกิดขึ้นกับคนบางคนเท่านั้น ได้แก่ สายตาสั้น ยาวโดยกำเนิด และ สายตาเอียง เปรียบเทียบเหมือนกับโครงสร้างร่างกายที่สูงไป เตี้ยไป อันมีสาเหตุหลักมาจากกรรมพันธุ์นั่นเอง
- เกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อภายในที่ใช้โฟกัส ได้แก่การที่กล้ามเนื้อยึดแก้วตา ซึ่งมีหน้าที่ปรับโฟกัสเพื่อการมองใกล้เสื่อมลงไปตามอายุของคนเราที่มากขึ้น สายตาผิดปกติประเภทนี้เกิดขึ้นกับคนทุกๆคน เพราะตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆก็เสื่อมไปตามกาลเวลา
สายตาผิดปกติชนิดหนึ่ง เกิดจากกำลังของการรวมแสงของตามีกำลังมากเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดของลูกตา เมื่อเรามองวัตถุที่อยู่ไกล ตาจะรวมแสงด้วยกำลังที่มากเกินไป ทำให้ระยะที่แสงโฟกัสชัดสั้นเกินไป ไม่ถึงจอประสาทตา แต่แสงที่เลยไปตกที่จอประสาทตานั้นไม่โฟกัส คุณจึงเห็นสิ่งที่อยู่ไกลๆไม่ชัด แต่หากเข้าไปดูใกล้ๆ ระยะโฟกัสที่เคยอยู่ก่อนจุดรับภาพจะขยับถอยหลังไปอยู่ใกล้จอประสาทตามากขึ้น คนสายตาสั้น จึงพอเห็นได้แต่เฉพาะสิ่งที่อยู่ใกล้ๆตานั่นเอง การแก้ไขทั่วๆไปจึงเป็นการใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ โดยเลนส์ที่ใช้นี้มีคุณสมบัติไป”ลบ”กำลังรวมแสงให้น้อยลง เลนส์ดังกล่าวคือเลนส์เว้า ซึ่งมีคุณสมบัติกระจายแสง ช่วยยืดระยะโฟกัสของแสงออกไปจนไปตกพอดีที่จอประสาทตา จึงช่วยให้คนสายตาสั้นมองเห็นภาพที่ระยะไกลได้ชัดเจนขึ้น สายตาสั้น แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- สายตาสั้นธรรมดา ( Physiologic or Simple Myopia) ส่วนใหญ่แล้ว คนสายตาสั้นเป็นตาสั้นแบบนี้ คือ เป็นสายตาสั้นชนิดที่มีการคงที่ของสายตา ไม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมาก เกิดจากโครงสร้างของตาที่มีกระจกตา โค้งมากเกิน หรือขนาดลูกตาใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย
- สายตาสั้นชนิดเป็นโรค ( Pathologic or Progressive Myopia) เป็นสายตาสั้นที่สายตาสั้นไม่คงที่แต่จะสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากลูกตามีการยืดยาวออกไปด้านหลังเพิ่มขึ้นแม้เมื่ออายุมากหรือเข้าวัยกลางคนแล้ว ทำให้สายตาสั้นมาก อาจจะมากได้กว่า 2000-3000 และ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคตาอื่นๆตามมาได้ในระยะยาว
ไม่สามารถบอกได้ล่วงหน้าว่า คนสายตาสั้นคนใดจะเป็นสายตาสั้นแบบใด แต่ยิ่งสายตาสั้นมาก( โดยเฉพาะมากเกิน 600 )ขึ้นไป ความเสี่ยงที่จะเป็นสายตาสั้นชนิดเป็นโรคก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
สายตายาวโดยกำเนิด เกิดจากกำลังของการรวมแสงของตามีกำลังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดของลูกตา เมื่อมองวัตถุที่อยู่ไกล ส่วนประกอบของตาที่ทำหน้าที่รวมแสงจะทำด้วยกำลังที่น้อยเกินไป ระยะที่จะโฟกัสได้ต้องยาวเกินลูกตา จึงมองไกลไม่ชัดเจน ยิ่งเมื่อวัตถุเข้ามาใกล้การมองเห็นจะยิ่งเลวลง เพราะการมองใกล้ ยิ่งต้องอาศัยกำลังการรวมแสงที่มากขึ้น ดังนั้น คนที่มีสายตายาวโดยกำเนิดจึงมองไกลก็ไม่ชัด มองใกล้ก็ยิ่งมัวกว่า เนื่องจากกำลังรวมแสงของตาถูกสร้างมาน้อยเกินไป การแก้ไขทั่วๆไปจึงเป็นการใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ โดยเลนส์ที่ใช้นี้มีคุณสมบัติไป”เพิ่ม”กำลังการรวมแสงให้มากขึ้น เลนส์ดังกล่าวคือเลนส์นูน ซึ่งมีคุณสมบัติเลนส์รวมแสง ช่วยลดระยะโฟกัสให้สั้นลง จึงช่วยให้คนสายตายาวโดยกำเนิดมองเห็นภาพที่ระยะไกลได้ชัดเจนขึ้น
สายตาผิดปกติชนิดนี้พบควบคู่ไปกับสายตาสั้นหรือสายตายาวโดยกำเนิด หรือ เกิดเดี่ยวๆก็ได้ สายตาเอียงเกิดจากการที่กำลังรวมแสงของตาไม่ได้เท่ากันสม่ำเสมอในทุกแนว ตำแหน่งที่แสงโฟกัสจึงไม่เป็นจุดเดียว หรือ พูดง่ายๆก็คือ ค่าสายตาเมื่อวัดในแนวต่างๆ ไม่เท่ากันทั้งตา เพราะ กระจกตาอาจจะไม่กลม แต่เป็นรูปรีเหมือนรูปไข่ รัศมีความโค้งจึงไม่เท่ากัน มีอยู่บางแนวหรือ บางองศา ที่รัศมีความโค้งมากกว่าแนวอื่น ทำให้ในแนวนั้น วัดค่าสายตาแล้วต่างไป สายตาเอียง ทำให้คุณเห็นภาพไม่ชัด หรือเป็นภาพซ้อน คนที่มีทั้งสายตาสั้นและเอียง ก็เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ได้ดีกว่าไกลตามลักษณะสายตาสั้น แต่ก็ไม่ชัดมากเพราะมีสายตาเอียงด้วย การแก้ไขสายตาเอียงด้วยแว่น ต้องเป็นเลนส์เฉพาะที่เป็นเลนส์ทรงกระบอก(cylinder) เพื่อเลือกปรับลดหรือเพิ่มกำลังเฉพาะบางองศาได้ สายตาเอียงมี 2 แบบ คือ
- Regular astigmatism คือ สายตาเอียงแบบเป็นระเบียบ มีองศาเอียงที่แน่นอน แก้ด้วยแว่นได้
- Irregular astigmatism คือ สายตาเอียงที่ไม่เป็นระเบียบ แก้ด้วยแว่นไม่ได้ เกิดจากผิวกระจกตาที่ไม่สม่ำเสมอ เช่น กระจกตาที่เคยแตก กระจกตาที่เป็นโรค keratoconus , Irregular astigmatism เป็นคำที่ใช้มาในทางจักษุวิทยา แต่เมื่อเทียบกับในทางฟิสิกส์ของแสงแล้ว จะเป็นคำที่มีความหมายเดียวกับ Higher order aberration หรือความเพี้ยนของการโฟกัสแสงระดับสูง
สายตาผิดปกติชนิดนี้พบควบคู่ไปกับสายตาสั้นหรือสายตายาวโดยปัญหาสายตายาวตามอายุ (presbyopia) เกิดขึ้นกับคนทุกคน ไม่ว่าคุณจะมีสายตาอย่างไรมาก่อน สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อภายในตาที่อ่อนกำลังลงและแก้วตาที่แข็งหนาตัวขึ้นทำให้ความยืดหยุ่นของการเพ่งมองใกล้ทำได้น้อยลง โดยระดับการมองเห็นในที่ไกลไม่เปลี่ยนแปลง อาการแสดงออกของสายตายาวตามอายุจะแตกต่างกันไปขึ้นกับสายตาเดิม หากคุณมีสายตาปกติมาก่อน เมื่ออายุ ประมาณ 40 ปี จะเริ่มมองใกล้ เช่น อ่านหนังสือหรือ ดูวันที่ที่หน้าปัดนาฬิกายากลำบากขึ้น อีกไม่กี่ปีต่อมา ก็ต้องสวมแว่นช่วยมองใกล้ แต่หากคุณมีสายตาสั้นมาก่อน การมองใกล้จะไม่ถูกกระทบกระเทือนนัก หรือ เมื่อถอดแว่นสายตาออกจะอ่านหนังสือหรือมองใกล้ได้ดีกว่าเมื่อสวมแว่น แต่ในคนที่มีสายตายาวโดยกำเนิด จะเกิดสายตายาวตามอายุได้เร็วกว่าปกติ